บรรพบุรุษของไทยเรามีชื่อเสียงในงานด้านศิลปะการประดิษฐ์อย่างมากมาย โดยเฉพาะการประดิษฐ์ตกแต่งพวงดอกไม้ ใบไม้ ผลไม้และวัสดุอื่นๆ ในปัจจุบันงานฝีมือด้านงานประดิษฐ์ดอกไม้ก็เป็นที่ขึ้นชื่อลือชามากและก็เป็นที่นิยมประดิษฐ์ในงานต่างๆแทบทุกงาน โดยเฉพาะงานพิธีต่างๆและงานมาลัยถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สูงค่าของคนไทยแขนงหนึ่งที่มีแต่ช้านาน
จากในหลักฐานที่อ้างถึงตอนหนึ่งว่า ในเดือนเมษายนมีพระราชพิธีสนามใหญ่บรรดาเจ้าเมือง เศรษฐี คหบดีเข้าเฝ้าถวายบังคมสมเด็จพระร่วงเจ้า เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการ พระสนมกำนัลต่าง ๆ ก็ร้อยกรองดอกไม้เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ใส่เมี่ยงหมากถวายให้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ ผู้มาเฝ้าและในครั้งนั้นนางนพมาศ ก็ร้อยดอกไม้สีเหลืองเป็นรูปพานทองสองชั้นรองขัน มีระย้าระบายงดงามในขันใส่เมี่ยงหมาก แล้วร้อยดอกไม้เป็นตาข่ายคลุมขันอีกทีหนึ่ง เป็นที่เจริญตาและถูก กาลเทศะอีก สมเด็จพระร่วงเจ้าจึงทรงบัญญัติว่า ถ้าชาวไทยทำการรับแขกเป็นการสนามใหญ่ มีการอาวาห์มงคล หรือวิวาห์มงคล เป็นต้น ให้ร้อยกรองดอกไม้เป็นรูปพานขันหมากดังนี้ และให้เรียกว่า พานขันหมาก
มาลัย หมายถึง ดอกไม้ประดิษฐ์แบบไทยลักษณะหนึ่งที่เกิดจากฝีมือการประดิษฐ์ประดอยของผู้ร้อย ผสานกับความงามของดอกไม้ กลีบดอกไม้ ใบไม้นานาพันธุ์ และส่วนต่าง ๆ ของดอกไม้ที่ร้อยได้จนเกิดเป็นรูปแบบและลาดลายที่หลากหลาย อันเป็นความงามที่แสดงออกถึงความนุ่มนวล ละเมียดละไม ความมีสมาธิ และชนิดมาลัยก็มีหลายแบบแต่ละชนิดก็มีหน้าที่ใช้สอยแตกต่างกันไปตามโอกาสและความเหมาะสม เช่น มาลัยคล้องมือ มาลัยบ่าวสาว มาลัยกลม มาลัยแบน มาลัยรี มาลัยตุ้ม มาลัยตัวสัตว์ มาลัยซีก มาลัยลูกโซ่ มาลัยสามเหลี่ยม มาลัยสี่เหลี่ยม มาลัยเถา มาลัยตัวหนอน มาลัยสามกษัตริย์ มาลัยพวงดอกไม้ เป็นต้น
ดอกไม้และใบไม้ที่ใช้ร้อยมาลัยมีดังนี้
ดอกกุหลาบมอญ
ดอกมะลิ
ดอกพุด
ดอกดาวเรือง
ดอกกล้วยไม้
ดอกบานไม่รู้โรย
ดอกจำปี
ดอกเบญจมาศน้ำ
ใบแก้ว
ดอกจำปี
ใบลิ้นกระบือ
ประเภทของมาลัยแบ่งได้ดังนี้
มาลัยชายเดียว คือ มาลัยที่มีลักษณะเป็นพวงกลม มีอุบะห้อยเป็นชายเพียงพวงเดียว เรียกว่า มาลัยมือ มาลัยข้อมือหรือมาลัยคล้องแขน
มาลัยสองชาย คือ มาลัยที่่นิยมผูกต่อด้วยโบทั้งสอง มีอุบะห้อยชายข้างละเท่า ๆ กันข้างละพวงใช้สำหรับคล้องคอบุคคลสำคัญในงานนั้น ๆ หรืองานมงคลสมรส เรียกว่า มาลัยบ่าวสาว
มาลัยชำร่วย คือ มาลัยขนาดเล็กน่ารัก สำหรับมอบให้บุคคลจำนวนมากแทนการขอบคุณที่มาร่วมในงานนั้น ๆ
ประโยชน์ของมาลัย
มาลัยแต่ละชนิด มีหน้าที่ใช้สอยต่าง ๆ กัน ตามโอกาสและความเหมาะสม ดังนั้น
- ใช้สำหรับคล้องคอ เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าของงาน เช่น มาลัยบ่าว-สาว
- ใช้สำหรับคล้องคอ เพื่อแสดงความยินดีหรือต้อนรับแขก
- ใช้สำหรับคล้องคอ เพื่อแสดงความยินดีหรือเป็นเกียรติแก่ผู้มีชัยชนะในการประกวดต่าง ๆ
- ใช้สำหรับคล้องคอ เพื่อแสดงความยินดีแก่ผู้มีชัยชนะในการแข่งขันต่าง ๆ
- ใช้สำหรับมอบให้บุคคลผู้มีชื่อเสียง เพื่อเป็นการรับขวัญ
- ใช้สำหรับทูลเกล้าฯ ถวาย ในการรับเสด็จฯ ในการเข้าเฝ้าตามโอกาสที่เหมาะสม
- ใช้สำหรับมอบให้แก่ประธาน หรือแขกผู้ใหญ่
- ใช้สำหรับเป็นของชำร่วยแก่แขกที่มาในงาน
- ใช้สำหรับสวมคอในงานประเพณีพื้นบ้านของไทย
- ใช้แขวนประตู หน้าต่าง หรือเพดาน แทนเครื่องแขวน
- ใช้ห้องแทนเฟื่องดอกรัก
- ใช้บูชาพระ
- ใช้แขวนหรือประดับเครื่องดนตรีไทยในเวลาที่จะเล่น
- ใช้ในการประกอบท่ารำของการรำไทยบางชุด
- ใช้ในพิธีบวงสรวงเทพยดาต่าง ๆ
- ใช้สำหรับตกแต่งรัดมวยผม
- ใช้ประดิษฐ์เป็นดอกไม้สำหรับจัดแจกัน
- ใช้ในการคารวะผู้ที่เคารพนับถือ
- ใช้ในการประดับตกแต่งในงานดอกไม้สดต่าง ๆ
- ใช้ในการตกแต่งสิ่งต่าง ๆ ในบางโอกาส เช่น รัดฐานพระพุทธรูป
- ใช้แขวนห้อยหน้ารถ หรือหัวเรือ
- ใช้ในการตกแต่งประดับเวที
ที่มาของข้อมูล http://plewandee.blogspot.com/
ที่มาของภาพ การประกวดร้อยมาลัยงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น ระดับภาคและระดับประเทศ