เนื้อหา
นิทรรศการ หมายถึงการจัดแสดงข้อมูลเนื้อหาผลงานต่าง ๆ ด้วยวัสดุ สิ่งของ อุปกรณ์และกิจกรรมที่หลากหลายแต่มีความสัมพันธ์กันในแต่ละเรื่องโดยมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน มีการวางแผนและออกแบบที่เร้าความสนใจให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการดู การฟัง การสังเกต การจับต้องและการทดลองด้วยสื่อที่หลากหลาย เช่น รูปภาพ ของจริง หุ่นจำลอง ป้ายนิเทศ และกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประกวด การแข่งขัน การบรรยาย การสาธิต การอภิปราย และการตอบปัญหา เป็นต้น
การจัดแสดงและนิทรรศการ แสดงให้เห็นว่าการจัดแสดง คือ นิทรรศการขนาดเล็กมาก นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการขนาดใหญ่ ได้แก่ นิทรรศการประเภทงานแสดง (fair) หมายถึง นิทรรศการขนาดใหญ่ที่มีบริเวณกว้างขวาง และงานมหกรรม (exposition) หมายถึง นิทรรศการขนาดใหญ่มโหฬารระดับชาติหรือนานาชาติ ดังนั้นจึงกล่าวโดยรวมได้ว่า “การจัดแสดงทุกขนาดเป็นนิทรรศการ”
ความสำคัญของนิทรรศการ
นิทรรศการเป็นสื่อที่มีคุณค่าและมีศักยภาพสูงในการดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ดีเนื่องจากความหลากหลายของสื่อสามารถตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้ชมได้ ดังนั้นนิทรรศการที่ดีจะมีอิทธิพลต่อผู้ชมในด้านความรู้ความเข้าใจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอารมณ์และความรู้สึก การเปลี่ยนแปลงเจตคติ รวมทั้งการตัดสินใจดังจะเห็นได้จากตัวอย่างนิทรรศการทางการศึกษา ทางการค้าและทางศิลปวัฒนธรรม
วัตถุประสงค์ในการจัดนิทรรศการ
1.เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ
2.เพื่อสร้างความประทับใจ ให้ผู้ชมเกิดความเลื่อมใสศรัทธา
3.เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมหรือกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนแปลงทัศนคติไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กร
4.เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือสร้างภาพพจน์ที่ดีของบุคลากร องค์กร หรือหน่วยงาน
5.เพื่อสร้างความบันเทิง
6.เพื่อเป็นการประเมินประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานโดยรวมของหน่วยงานหรือ องค์กรที่เป็นเจ้าของนิทรรศการแต่ละครั้ง
คุณค่าของนิทรรศการ
1.เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ ความคิดและข้อมูลต่าง ๆ
2.เป็นแหล่งถ่ายทอดสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมได้โดยอาศัยสื่อต่าง ๆจึงทำให้เข้าใจง่ายขึ้น
3.เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีประสิทธิภาพโดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมใน กิจกรรมต่าง ๆ
4.เป็นการส่งเสริมการทำงานเป็นหมู่คณะได้เป็นอย่างดี
5.การใช้สื่อหลายชนิดในการจัดแสดงนิทรรศการ
ศิลปะการจัดนิทรรศการ นิทรรศการเป็นสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่งที่เน้นการรับรู้ทางตา การรับรู้ทางประสาทตานั้น จำเป็นต้องมีการดึงดูดเร้าความสนใจให้คนดูในสิ่งที่ต้องการให้ดู มิฉะนั้นแล้วสื่อที่จัดไว้ก็อาจหมดความหมายไปได้ การสร้างสิ่งจูงใจให้ประสาทตาสัมผัส ประกอบด้วยองค์ประกอบทางศิลปะ หลายอย่าง ได้แก่
1. ความสมดุล (balance) การจัดให้มีความสมดุลในการออกแบบสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่
สมดุลเท่ากันทั้ง 2 ด้าน (symetrical or formal balance) คือการจัดให้มี 2 ส่วน ซ้าย ขวา มีความเท่ากันโดยการจัดวาง หรือติดตั้งในลักษณะที่เหมือนกัน กล่าวคือ เท่ากันหมดทั้งระยะทางและตำแหน่งที่วาง เมื่อมองแล้วทำให้สองข้างมีนำหนักเท่ากัน การจัดแบบนี้เหมาะกับงานที่เป็นทางการ และดูค่อนข้างจริงจัง
สมดุลไม่เท่ากันทั้ง 2 ด้าน (asymetrical or informal balance) เป็นการจัดที่ทั้ง 2 ด้านไม่เท่ากัน ทั้งระยะทางและตำแหน่งที่วาง แต่เมื่อมองดูแล้วจะมีความรู้สึกว่าทั้งสองข้างมีน้ำหนักเท่ากัน ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ความสมดุลเกิดจากความรู้สึกเมื่อดูด้วยสายตา ซึ่งการจัดรูปแบบของความสมดุลไม่เท่ากันทั้ง 2 ด้าน (asymetrical balance) เป็นแบบที่นิยมใช้กันมาก เพราะทำให้การจัดแปรเปลี่ยนไปได้หลายรูปแบบ และไม่ทำให้เกิดความจำเจนัก เพราะรูปแบบของงานจะมีสิ่งใหม่ๆ ปรากฏได้ตลอดเวลา การจัดให้เกิดความสมดุลแบบนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้จัดที่จะต้องเข้าใจองค์ประกอบทางศิลปะอยู่บ้าง จึงจะจัดได้รูปแบบที่ดี
2. ความเป็นหน่วยหรือเอกภาพ (unity) การจัดสิ่งต่างๆ ให้คนดูนั้น ความรู้สึกเป็นหน่วยเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เพราะเมื่อดูแล้วจะทำให้รู้สึกเกิดความเป็นกลุ่มก้อนไม่กระจัดกระจาย วิธีการจัดความเป็นหน่วยนี้ผู้จัดจะให้ความสำคัญของพื้นที่รอบๆ และจัดให้มีส่วนอื่นๆ ให้เป็นรอง ผู้ที่ขาดประสบการณ์จะจัดภาพในพื้นที่ที่กำหนดกระจัดกระจาย และมีมากจนหาจุดเด่นของภาพนั้นไม่ได้
3. การสร้างจุดสนใจ (point of interest) การสร้างจุดสนใจให้มองเป็นอันดับสำคัญว่าทำอย่างไรคนจึงจะสนใจมอง ซึ่งในธรรมชาติของคนเรานั้น ชอบมองในสิ่งที่มีความสวยงาม แต่ความสวยงามเป็นผลสุดท้ายของการมอง ซึ่งอาจจะเริ่มมาจากจุดใดจุดหนึ่งที่อาจจะไม่ใช่ความสวยงาม แต่เริ่มมาจากความแตกต่างของภาพกับพื้นในภาพนั้น ซึ่งเรื่องของความแตกต่าง (contrast) นั้นมีหลายลักษณะ ได้แก่ ความแตกต่างของขนาด ความแตกต่างของผิว และความแตกต่างของทิศทาง เป็นต้น
4. สี สีที่จะนำมาใช้เป็นสื่อสร้างจุดสนใจนี้ เป็นที่ยอมรับกันเป็นอย่างดีแล้วว่าสามารถใช้ให้เกิดความสนใจได้ แต่ก็ต้องคำนึงถึงปริมาณ หรือจำนวนสีที่ใช้ด้วย การจะให้เกิดจุดสนใจได้ จะต้องไม่ใช้สีร่วมกันมากนัก มิฉะนั้นความแตกต่างก็จะไม่มี ซึ่งจะมีผลไปถึงความแตกต่างที่เด่นชัดด้วย การใช้สีนั้นไม่จำเป็นต้องใช้สีหลายสีนัก แต่การให้ปริมาณสีใดสีหนึ่งมากกว่าย่อมก่อให้เกิดความแตกต่างได้
5. เทคนิคในการนำเสนอ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสร้างจุดสนใจให้ดึงดูดสายตาผู้ชมได้ เทคนิคที่ใช้นี้มีต่างๆ กันไป แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์มีมากน้อยเพียงใด ซึ่งเราจะพบเสมอว่าแม้ในเรื่องที่เสนอเรื่องเดียวกัน แต่เทคนิคต่างกัน ความสนใจจะแตกต่างกันไปด้วย ตัวอย่างเทคนิคได้แก่ การฉีกกระดาษ การเสปรย์สี การผสมผสานของวัตถุที่ใช้ ภาพการ์ตูน การประสานมิติ เป็นต้น
การนำองค์ประกอบศิลปะไปใช้ในงานนิทรรศการนั้น ในทางปฏิบัติจริงๆ แล้วเมื่อเริ่มผลิตสิ่งใดขึ้นก็จะใช้องค์ประกอบผสมผสานกันไป ไม่อาจแบ่งแยกออกมาอย่างเด่นชัด สำหรับผู้ที่คิดว่าตนเองไม่ค่อยมีพื้นฐานนั้น ขอให้ตัดประเด็นนี้ออกไปได้ เพราะมนุษย์เรานั้นมีศิลปะอยู่ในตัวแล้วทุกคน เพียงแต่ว่ายังไม่ได้นำออกมาใช้เท่านั้น ขอให้ลองฝึกหัด สังเกต ทดลองสักระยะหนึ่งก็จะทำให้เกิดประสบการณ์ขึ้นได้อย่างแน่นอน
เก็บตกจากงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น ประจำปี 2557
อบจ.ขอนแก่น
"ร้อยรัก ร้อยมาลัย รวมในเป็นหนึ่ง"
|
|
|
|
เทศบาลเมืองป่าตองแสดงอัตลักษณ์ท้องถิ่นได้อย่างสวยงาม | |
|
|
|
|
|
|
|
|
logo และป้ายนิทรรศการ ฝีมือของบ้านผู้นำกรุ๊ฟ | |
|
|
|
|
นิทรรศการของหน่วยงานต่าง ๆ | |
|
|
|
|
|
|
|
|
ที่มา : คู่มือการจัดนิทรรศการ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 1 จังหวัดปทุมธานี
ภาพถ่ายจากงานนิทรรศการงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น ปี 2557 ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี